วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
สาธารณสุขยะลาเตือนภัย 6 โรคมากับน้ำท่วม
นายแพทย์สวัสดิ์ อภิวัจนีวงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดยะลา พบน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอยะหา รามัน กรงปินัง ธารโต บันนังสตา และอำเภอเมืองยะลา จึงได้สั่งการให้เครือข่ายบริการในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมเฝ้าระวังโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วมและ ภายหลังน้ำลด โดยเน้น 6 โรคที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์ โรคตับอักเสบ ตาแดง และไข้เลือดออก และให้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการผู้ประสบภัยฟรีพร้อมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดโรค และป้องกันการเสียชีวิตหลังเจ็บป่วย ซึ่งเครือข่ายสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งในจังหวัด ได้เตรียมความพร้อมด้านเวชภัณฑ์ ยา สำหรับดูแลผู้ประสบภัย อย่างครบถ้วนเพียงพอ
alt
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา ยังกล่าวเตือนและขอความร่วมมือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังอีกว่า ห้ามถ่ายอุจจาระหรือทิ้งขยะลงน้ำอย่างเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้น้ำสกปรก เสี่ยงเกิดโรคระบาดได้ง่ายโดยเฉพาะโรคที่ติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่น ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค โรคตับอักเสบ รวมทั้งโรคตาแดง หากส้วมใช้การไม่ได้ ขอให้ถ่ายอุจจาระลงถุงดำหรือถุงพลาสติก หรือที่เรียกว่าส้วมมือถือ และทิ้งขยะลงในถุงดำหรือถุงพลาสติก และมัดปากถุงให้มิดชิดป้องกันแมลงวันตอม ก่อนนำไปทำลาย อีกทั้งสิ่งที่ผู้ประสบภัยขาดแคลนในช่วงที่มีน้ำท่วมขัง ก็คือน้ำดื่ม น้ำใช้ จึงขอให้ดื่มน้ำบรรจุขวดที่มีตราอย.หรือดื่มน้ำต้มสุก กินอาหารที่ปรุงสุกแล้ว ส่วนน้ำใช้นั้น สามารถนำน้ำท่วมมาปรับสภาพให้สะอาดและใช้ได้ โดยใช้สารส้มและคลอรีนเม็ด ใช้กับน้ำ 1 โอ่งมังกรใหญ่ โดยใช้สารส้มแกว่งน้ำให้ตกตะกอนก่อน และใส่คลอรีนเม็ด 1 เม็ด เพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำ จะทำให้น้ำสะอาดเท่าน้ำประปา อีกทั้ง ขอให้ประชาชนระมัดระวังในการทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด โดยจะต้องสวมรองเท้าเพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลจากการเหยียบเศษวัสดุของมีคม ทำให้เป็นทางเข้าของเชื้อโรคได้ โดยเฉพาะโรคฉี่หนู
นายแพทย์สวัสดิ์กล่าวอีกว่านอกจากโรคระบาดดังกล่าวแล้ว เรื่องอุบัติเหตุ อุบัติภัย ก็ควรระมัดระวังเช่นกัน ได้แก่การป้องกันกระแสไฟฟ้าดูด จากปลั๊กไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เปียกชื้น อันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมลงป่อง ที่อาจจะหนีน้ำมาหลบอยู่ในบริเวณบ้าน รวมทั้งการลื่นล้มและการพลัดตกน้ำจมน้ำ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ชอบเล่นน้ำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พ่อแม่ ผู้ปกครองจึงต้องระมัดระวังคอยดูแลเป็นพิเศษ."
วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2552
9 วิธีง่ายๆ ที่จะดูแลตัวเองให้พ้นจากไข้หวัด 2009 และช่วยลดการระบาด
1.วิธีที่ง่าย ที่สุดคือ หลีกเลี่ยงโอกาสเสี่ยงต่างๆ เช่น สถานที่แออัด โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า หรือจะเรียกว่า ปฏิบัติการอยู่บ้าน ต้านหวัด ก็ได้ นอกจากนั้นแล้วก็ต้องล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์
2. ระมัดระวังในการแตะต้องสิ่งของที่ต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟท์ เช่น อาจจะหาดินสอแท่งเล็กๆ ไว้สำหรับกดลิฟท์โดยเฉพาะ แต่ระวังอย่านำดินสอแท่งนั้นมาสัมผัสหน้าหรือนำเข้าปาก หรืออาจใช้ข้อศอกผลักประตูแทนการใช้มือ
3. หลีกเลี่ยงการจับมือ การทักทายด้วยการจุมพิต หรือกิจกรรมทางสังคมอื่นๆที่อาจต้องสัมผัสกับผู้อื่นอย่างใกล้ชิด เช่น งานเต้นรำ การกอดรัดแนบชิด เป็นต้นที่สำคัญหลีกเลี่ยงการเอามือจับจมูก ปาก ขยี้ตา อันเป็นโอกาสนำเชื้อที่อาจอยู่ที่มือเราเข้าไปสู่ร่างกายได้
4. ไม่สูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะยิ่งทำให้คุณมีโอกาสเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ง่ายขึ้น และอาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้
5. เมื่อกลับถึงบ้าน ล้างมือ อาบน้ำ สระผมทันที ก็มีส่วนช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรค
6. ช่วยลดการระบาดด้วยการระมัดระวังเรื่องสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจเมื่ออยู่ ร่วมกับผู้คน (เช่น การไอหรือจาม) ถ้าไม่มีผ้าปิดปาก ให้ไอหรือจามใส่แขนเสื้อท่อนบน ก็จะช่วยให้เชื้อโรคอยู่เฉพาะบริเวณนั้น ไม่แพร่กระจายไปยังผู้อื่น (ไม่ใช้มือปิดปากเวลาไอหรือจาม เพราะมือจะเป็นตัวแพร่เชื้อโดยการสัมผัสต่อๆไป)
7. ล้างมือให้สะอาดหลังจากไอหรือจาม หรือหลังจากจับต้องสิ่งของที่อาจจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อโดยผู้ที่ใช้ก่อน เรา แล้วเช็ดมือให้แห้งด้วยกระดาษทิชชูที่ใช้แล้วทิ้งเลย หลีกเลี่ยงการเช็ดมือกับผ้าที่ใช้ต่อๆ กัน
8. ใช้กระดาษทิชชูเวลาที่ต้องการสั่งน้ำมูก และทิ้งเมื่อไม่ใช้แล้ว และล้างมือ
9. หากใช้หน้ากากอนามัย ควรทิ้งหลังจากที่ใช้แล้วและล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังถอดหน้ากากอนามัย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.flu2009thailand.com
วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552
อาการ จาก ไข้หวัดใหญ่
1.ไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน ระยะฟักตัว 1-4วัน โดยเฉลี่ย 2 วัน
ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียอย่างฉับพลัน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดตามแขนขา ปวดข้อ ปวดรอบตา ไข้สูง 39-40 ํ c เจ็บคอและคอแดงมีน้ำมูกใสไหล ไอแห้งๆ ตามตัวจะร้อน แดง ตาแดง อาการอาเจียน หรือท้องเดิน ไข้เป็น 2-4 วันแล้วค่อยๆลดลงแต่อาการคัดจมูก และแสบคอยังคงอยู่โดยทั่วไปจะหายใน 1 สัปดาห์
2.สำหรับรายที่เป็นรุนแรงมักเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังอยู่ก่อนมักจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่ระบบอื่นด้วยเช่น
อาจพบการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก หรืออาการหัวใจวาย ผู้ป่วยจะเหนื่อยหอบ ระบบประสาท พบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และสมองอักเสบผู้ป่วยจะปวดศีรษะมาก และซึมลง ระบบหายใจ มีหลอดลมอักเสบ และปอดบวมผู้ป่วยจะแน่นหน้าอก และเหนื่อย โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่มักจะหายในไม่กี่วัน แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายมีอาการไอ และปวดตามตัวนาน 2 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่เสียชีวิตมักจะเกิดจากปอดบวม และโรคหัวใจหรือโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่
ข้อมูลจาก : Siamhealth.net