รองปลัดฯสธ. ระบุ ผู้ติดหวัด 2009 ชาวไทยเสียชีวิตแล้ว 65 ราย โดย 41 ราย เป็นผู้อยู่กลุ่มเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง อีก 24 ราย เป็นผู้ไม่มีโรคประจำตัว ส่วนใหญ่เข้ารับการรักษารพ.ล่าช้า
(29ก.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา โรงพยาบาลศิริราช พญ.สยมพร ศิรินาวิน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ศาสตราจารย์ นพ.ยง ภู่วรวรรณ ศูนย์ไวรัสวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และรศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ แพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1
โดยนพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า สำนักระบาดวิทยารายงานข้อมูลรอบสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 22-28 กรกฎาคม 2552 มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 65 ราย ใน 27 จังหวัด แยกเป็นภาคกลาง 13 จังหวัด ภาคอีสาน 6 จังหวัด ภาคเหนือ 4 จังหวัด และภาคใต้ 4 จังหวัด หญิง 30 ราย ชาย 35 ราย พบทุกกลุ่มอายุ โดย 41 ราย เป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง มากที่สุดคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด 14ราย เบาหวาน 9 ราย อ้วนน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม 9 ราย โรคปอดหรือสูบบุหรี่จัด 7 ราย ไตวายเรื้อรัง 6 ราย กินยากดภูมิต้านทาน 4 ราย โรคระบบเลือดและตั้งครรภ์ อย่างละ 3 ราย โรคตับและพิการแต่กำเนินอย่างละ 2 ราย
ในส่วนของผู้เสียชีวิตที่เหลืออีก 24 ราย ที่เป็นผู้ไม่มีโรคประจำตัว ส่วนใหญ่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลล่าช้า หลังป่วยแล้วถึง 6 วัน ทำให้การให้ยาต้านไวรัสไม่ได้ผลดี สำหรับข่าวที่ว่ามีผู้เสียชีวิต 66 รายนั้น ผู้ป่วยไม่ได้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ แต่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ต่อมาโรงพยาบาลรามาธิบดีได้มีการประชุมและแจ้งให้ทราบ กระทรวงสาธารณสุขจึงขึ้นทะเบียนผู้เสียชีวิตยืนยันเพียง 65 รายเท่านั้น
ทั้งนี้ มาตรการลดผู้ป่วยหนักและลดการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ กระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการตามคำแนะนำของ คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับ ชาติ ซึ่งมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นประธาน เพื่อเตรียมพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ โดย 1.เร่งให้ความรู้กับแพทย์ทุกคนในการดูแลรักษาตามแนวทางการรักษาพยาบาลผู้ ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และ 2.กระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ให้คลินิกทั่วประเทศ ตามมาตรฐานการดำเนินงาน 8 ข้อ ดังนี้
1.คลินิกทั่วประเทศจะต้องมีแพทย์เป็นผู้ดูแลและเป็นผู้สั่งจ่ายยาได้ เท่านั้น 2.คลินิกจะต้องจัดส่งรายงานหลักฐานการจ่ายยาและอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ ยา ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือกระทรวงสาธารณสุขทุกวัน 3.คลินิกจะต้องมีมาตรการป้องกันการติดเชื้อในคลินิกทุกแห่ง 4.คลินิกที่ต้องการมียาต้านไวรัสไว้ในคลินิก จะต้องสมัครเข้าร่วมโครงการและแพทย์ในคลินิกทุกคนจะต้องได้รับการอบรม และประเมินความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ 5.ให้คลินิกมีการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาล 6.คลินิกควรมีกลไกในการติดตามผู้ป่วยทุกรายหลังการรักษา 7.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจัดระบบการตรวจสอบคลินิกที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งในเรื่องมาตรฐานการดูแลรักษา การสั่งจ่ายยา การป้องกันการติดเชื้อในคลินิกทุกเดือน
8.คลินิกที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องปฏิบัติตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโรคมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในบ่ายวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะจัดส่งมาตรการดังกล่าว ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ นำไปให้คลินิกทุกแห่งในพื้นที่ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
สำหรับปัญหาการดื้อยาต้านไวรัสโอเซลทามีเวียร์ ขณะนี้พบ 5 ราย ใน 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น 2 ราย แคนาดา เดนมาร์ค และฮ่องกง แห่งละ 1 ราย แต่ยังไม่พบในไทย การดื้อยาดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือนให้ทุกประเทศต้องเฝ้าระวังการใช้ยาอย่าง ใกล้ชิด และให้ยาอย่างระมัดระวังอย่างที่สุด โดยใช้รักษาผู้ป่วยเพื่อยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส จะไม่ใช้เพื่อป้องกันเพราะไม่ได้ผล ซึ่งในประเทศไทย ยานี้จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ไม่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป มีเฉพาะในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน และคลินิกที่เข้าโครงการเท่านั้น อย่างไรก็ตามประเทศที่มีการดื้อยาก็ยังคงใช้ยาตัวเดิม ขณะเดียวกันต้องมีการสำรองยาต้านไวรัสคือ ยาซานามิเวียร์ (Zanamivir) สำหรับเชื้อดื้อยา เป็นยาตัวที่ 2 ตามมาตรฐานสากล เพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งไทยได้สั่งซื้อจำนวน 20,000 ชุดใช้งบประมาณทั้งหมด 9 ล้านบาท
นอกจากนั้น รัฐบาลได้อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มขีดความสามารถของห้องไอซียูในการดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤต โดยเพิ่มเครื่องช่วยหายใจชนิดพิเศษ ให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั่วประเทศ รวม 210 เครื่อง เป็นเครื่องสำหรับผู้ใหญ่ 180 เครื่อง และสำหรับเด็ก 30 เครื่อง ใช้งบประมาณ 180 ล้านบาท เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สำหรับการดูแลในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่มีประมาณปีละ 800,000 คน ได้ให้ อสม. ออกแนะนำและคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ประมาณ 80,000 แห่ง สำหรับสถานพยาบาล ให้ปรับการนัดตรวจครรภ์ให้ห่างขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงรับเชื้อในโรงพยาบาลเมื่อมาฝากครรภ์ และจัดระบบเยี่ยมบ้านหรือติดตามอาการทางโทรศัพท์อย่างทั่วถึง ในส่วนของหอผู้ป่วยทุกแห่ง ขอให้ผู้ที่เป็นไข้หวัดงดเยี่ยมผู้ป่วยเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ไปสู่ผู้ป่วย ซึ่งมีภูมิต้านทานต่ำอยู่แล้ว โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ เด็กอ่อน ผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงการไปเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพราะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย
From:
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น